วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2555

ICS คืออะไร


ระบบบัญชาการเหตุการณ์
(Incident Command System:ICS)
                การเกิดขึ้นของสารธารณะภัย แต่ละครั้งแต่ละเหตุการณ์ถือเป็นภาวะวิกฤตหรือสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องอาศัยระบบคิดในการจัดการที่เป็นระบบเดียวกัน จึงทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปด้วยประสิทธิภาพ ลดการสูญเสีย ในชีวิตและทรัพย์สิน
                เครื่องมือการบริหารหนึ่งที่เชื่อว่าน่าจะเป็นเครื่องมืออันเหมาะสมต่อการจัดการในภาวะวิกฤต หรือภาวะฉุกเฉินคือ “ระบบบัญชาการณ์ (Incident Command System: ICS) ระบบบัญชาการเหตุการณ์
                ระบบการบัญชาการเหตุการณ์ คือ ระบบที่ใช้เพื่อการสั่งการ ควบคุม และประสานงานความร่วมมือของแต่ละหน่วยงานในการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ระบบดังกล่าวเป็นระบบปฏิบัติการเพื่อการระดมทรัพยากรไปยังที่เกิดเหตุ เพื่อบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินให้สามารถปกป้องชีวิต ทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อมได้อย่างบรรลุเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ
ความเป็นมาของระบบการบัญชาการเหตุการณ์
                แนวคิดระบบการบัญชาการเหตุการณ์ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ประเทศสหรัฐอเมริกาต้องประสบกับความเสียหายอย่างร้ายแรงอันเกิดจากไฟป่าทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอเนียร์ในปี พ.ศ.2513 แม้หน่วยงานที่ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านอัคคีภัยของมลรัฐจะพยายามสุดความสามารถ แต่ก็ยังประสบปัญหาการประสานงาน อันเนื่องจากที่มีหลายหน่วยงานมาปฏิบัติงานร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารและการประสานงาน เช่น การใช้ถ้อยคำและศัพท์ที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และขาดเอกภาพ ตลอดจนมีหลายระบบ จากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการพัฒนารูปแบบของระบบการบัญชาการเหตุการณ์ในเวลาต่อมา
นิยามและแนวคิดพื้นฐานของระบบบัญชาการณ์เหตุการณ์(Incident Command System: ICS)
                ระบบบัญชาการเหตุการณ์ หมายถึงแนวคิดที่เป็นมาตรฐานหนึ่งเดียวที่สามารถใช้รับมือกับเหตุการณ์หรือภาวะฉุกเฉินในที่เกิดเหตุได้ทุกชนิด ICS มีจุดเด่นสำคัญ ดังนี้
1.               เป็นกรอบแนวคิดมาตรฐานในการปฏิบัติเพื่อจัดการเหตุการณ์ทุกประเภททั้งที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกะทันหัน ฉุกเฉิน หรือเหตุการณ์ในภาวะปกติ
2.               เป็นระบบที่สนับสนุนการให้ข้อมูลที่แม่นยำ มีการวางแผน และคำนวณค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ และมีการสนับสนุนการกู้ภัย
3.               เป็นระบบที่สามารถปรับเปลี่ยนการจัดองค์กรแบบบูรณาการให้เหมาะสม สอดคล้องกับความซับซ้อนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กล่าวคือเป็นองค์กรชั่วคราว ไม่มีโครงสร้างหรือการบริหารแบบถาวร(Modular Organization) ICS จึงมีลักษณะที่ยืดหยุ่น ไม่ตายตัวสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของแต่ละเหตุการณ์
4.               เป็นโครงสร้างองค์กรในการจัดการสาธารณภัย ที่สามารถนำเอาทักษะความสามารถด้านเทคนิคเฉพาะผสมผสานอยู่ภายใต้องค์กรICS ได้อย่างลงตัว
5.               ICS ถูกใช้เป็นพื้นฐานในการกู้ภัยซึ่งเป็นภารกิจประจำ รวมทั้งสามารถใช้กับภาวะฉุกเฉินที่สำคัญอื่นๆได้ด้วย
6.               ในช่วงเวลาเหตุฉุกเฉิน ภายใต้ระบบ ICS เจ้าหน้าที่จะปรับบทบาทหน้าที่ตำแหน่ง “ที่ปฏิบัติประจำ”และไปปฏิบัติหน้าที่ภายใต้โครงสร้างองค์กร ICS ตามที่ได้รับมอบหมาย
7.               เป็นโครงสร้างที่ผสมผสานทรัพยากรทุกชนิดเข้าด้วยกันทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือแม้แต่กำลังคนจากหน่วยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร หน่วยการแพทย์ NGO

เป้าประสงค์ของการใช้ระบบบัญชาการณ์เหตุการณ์
การใช้ระบบบัญชาการเหตุการณ์มีเป้าประสงค์ที่เป็นหัวใจสำคัญ 3 ประการ ประกอบด้วย
1.               ความปลอดภัยทั้งผู้ปฏิบัติงานและผู้อื่น
2.               บรรลุวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ หรือยุทธวิธี
3.               มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ
ประโยชน์ของระบบ ICS
1.                ระบบICS ตอบสนองความต้องการในการจัดการเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ทุกรูปแบบ
2.                เจ้าหน้าที่จากหลากหลายองค์กร/หน่วยงานสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นระบบและรวดเร็ว ภายใต้โครงสร้างการจัดการเหตุการณ์แบบเดียวกัน
3.                เป็นระบบซึ่งให้การสนับสนุนแก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน
4.                ก่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และประหยัด อันเนื่องจากไม่มีการทำงานที่ซับซ้อน
คุณลักษณะพื้นฐานของระบบบัญชาการเหตุการณ์ (Basic Features of ICS)
                ระบบบัญชาการณ์เหตุการณ์ (ICS) มีคุณลักษณะพื้นฐานสำคัญ ดังนี้
1.                การวางมาตรฐาน (Standardization) หมายถึง การกำหนดมาตรฐานการใช้คำศัพท์หรือภาษาทั่วไปเพื่อใช้ในการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นสากล เข้าใจง่าย และเป็นที่เข้าใจร่วมกัน ในระหว่างการปฏิบัติงาน
2.                การบัญชาการ (Command) หมายถึง การอำนวยการ สั่งการ ตลอดจนควบคุมภายใต้อำนาจหน้าที่ชัดเจนตามกฎหมาย หรือได้รับมอบหมาย ซึ่งในพื้นที่เกิดเหตุผู้บัญชาการเหตุการณ์(Incident Commander) จะเป็นผู้ที่มีอำนาจในการบัญชาการ จึงไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่สูงสุดในบรรดาเจ้าหน้าที่ที่อยู่ ณ ที่เกิดเหตุนั้นก็ได้
โครงสร้างการจัดองค์กรของระบบการบัญชาการเหตุการณ์
                การจัดองค์กรเพื่อตอบโต้เหตุฉุกเฉินในระบบบัญชาการเหตุการณ์ เป็นการจัดองค์กรตามภารกิจหน้าที่ความรับผิดชอบ (Functional Responsibility) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2ส่วนหลัก ได้แก่ 1) ส่วนบัญชาการ (Command) และ 2) ส่วนอำนวยการ (General Staff) โดยแต่ละส่วนประกอบด้วยโครงสร้างการรับผิดชอบตามหน้าที่ ดังนี้
                     
1.               ส่วนบัญชาการ(Command) รับผิดชอบกำหนดวัตถุประสงค์/เป้าหมาย/จัดลำดับความสำคัญ และรับผิดชอบกับการตอบโต้เหตุฉุกเฉินโดยรวม (Overall Responsibility) ประกอบด้วย
1.1         ผู้บัญชาการเหตุการณ์ (Incident Commander :ICเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการกับเหตุการณ์ มีบทบาทสำคัญในการกำหนดวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการต่อเหตุการณ์ ให้แนวทางการจัดทำแผนเผชิญเหตุ ทั้งนี้ผู้บัญชาการเหตุการณ์จะรับผิดชอบกิจกรรมและหน้าที่ในทุกด้านจนกว่าจะมีการมอบหมาย หรือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่มารับผิดชอบดังกล่าวต่อไป
1.2         เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานหลัก (Command Staff) เป็นผู้สนับสนุนการบัญชาการของผู้บัญชาการเหตุการณ์ในการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งผู้บัญชาการเหตุการณ์จะเป็นผู้แต่งตั้งขึ้นตามความจำเป็น เหมาะสมในแต่ละเหตุการณ์ ได้แก่
1.เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ (Public Information Officer: PIO)
2.เจ้าหน้าที่ประสานงาน (Liaison Officer: LO)
3.เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัย (The Safety Officer: SO)
                                2.ส่วนอำนวยการ (General Staff) ประกอบด้วยโครงสร้างหลัก ส่วนสำคัญ ดังนี้
                                          
                                                2.1 ส่วนปฏิบัติการณ์ (Operations) มีหน้าที่ปฏิบัติการตามยุทธวิธี จัดสรรและกำกับดูแลทรัพยากรในการตอบโต้เหตุฉุกเฉิน (Direct Tactical Actions )
                                 
                                                2.2 ส่วนแผนงาน (Planning) มีหน้าที่หลักในการจัดทำแผนเผชิญเหตุ (Incident Action Plan: IAP) เพื่อเป็นการพัฒนายุทธวิธีการปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ ตลอดจนรวบรวม ประเมินผลข้อมูล และรักษาสถานะของทรัพยากร (Prepare action Plan – maintain  recourse and situation status)
                                                        
                                               
2.3 ส่วนสนับสนุน (Logistics) รับผิดชอบจัดหา สนับสนุนทรัพยากรและการบริการที่จำเป็นในการสนับสนุนการตอบโต้เหตุการณ์ (Provide Support)
                                                 

                                                2.4 ส่วนการบริหาร (Finance/Administration) มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการตอบโต้เหตุฉุกเฉิน จัดทำบัญชี จัดซื้อจัดหาวัสดุ บันทึกเวลาการปฏิบัติงานและประเมินค่าใช้จ่าย (Cost Accounting and Procurement)

1 ความคิดเห็น:

  1. ดีมากครับก็ฝากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ช่วยขยายผลในส่วนภูมิภาคก็ดีช่วยส่งเสริม รวมท้องถิ่นที่ดูแลทุกอย่างในพื้นที่โดยตรงในท้องถิ่น โดยฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัถัย ใช้แนวทางนี้ปรับใช้ให้เกิดจริงกับหลายหน่วยในท้องถิ่น ให้ความรู้เรื่องการสั่งการใช้กับการดับเพลิงและภัยอื่นๆจะได้มีเอกภาพ ไม่สับสนครับ

    ตอบลบ